ข้อเข่าของเราเป็นหนึ่งในข้อต่อที่ใช้งานหนักที่สุดในร่างกาย รองรับน้ำหนักตัวและการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเดิน วิ่ง ไปจนถึงการยกของหนัก สิ่งที่ช่วยให้ข้อเข่าทำงานได้อย่างราบรื่นก็คือ “น้ำไขข้อ” (Synovial Fluid) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและรักษาข้อเข่าให้แข็งแรง
น้ำไขข้อ คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญกับข้อเข่า?
น้ำไขข้อ คือ ของเหลวที่มีลักษณะข้นและใส ถูกสร้างขึ้นโดยเยื่อบุข้อ ซึ่งอยู่ในข้อต่อ น้ำไขข้อมีองค์ประกอบหลักเป็นกรดไฮยาลูโรนิก และโปรตีนชนิดต่าง ๆ ทำหน้าที่คล้าย “น้ำมันหล่อลื่น” ที่ช่วยให้ส่วนต่าง ๆ ในข้อเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีความสำคัญต่อข้อเข่ามีดังนี้
- หล่อลื่นและลดแรงเสียดทาน
น้ำไขข้อช่วยลดการเสียดสีระหว่างกระดูกอ่อน ที่อยู่ในข้อเข่า ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ราบรื่น ลดการสึกหรอและป้องกันการบาดเจ็บ - ดูดซับแรงกระแทก
น้ำไขข้อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับแรงกระแทก ช่วยกระจายแรงที่ส่งมาจากการเคลื่อนไหว ลดความเสียหายที่อาจเกิดกับกระดูกและกระดูกอ่อน - บำรุงกระดูกอ่อน
นอกจากการหล่อลื่นแล้ว น้ำไขข้อยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่จำเป็นสำหรับกระดูกอ่อน ช่วยรักษาความยืดหยุ่นและสุขภาพของเนื้อเยื่อในข้อเข่k
อาการของน้ำไขข้อที่ลดลงหรือหมดไป
เมื่อปริมาณน้ำไขข้อในข้อเข่าลดลงหรือหมดไป จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของข้อเข่า ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นสัญญาณและอาการต่าง ๆ ดังนี้
สัญญาณที่ควรสังเกต
1. ข้อเข่าฝืด
- ข้อเข่ารู้สึกตึงหรือฝืด โดยเฉพาะในตอนเช้าหรือหลังจากอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน
2. ปวดเข่า
- รู้สึกปวดบริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหว เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือขยับเข่าหลังจากพักนาน ๆ
3. เสียงในข้อเข่า
- ขณะงอหรือยืดข้อเข่า อาจได้ยินเสียง “กรอบแกรบ” หรือ “ป๊อกแป๊ก” ซึ่งเกิดจากกระดูกที่เสียดสีกัน
ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพข้อเข่า
1. ข้อเข่าเสื่อม
- การที่น้ำไขข้อหมดลงจะทำให้กระดูกอ่อนสึกหรอเร็วขึ้น นำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่อาจรักษาได้ยาก
2. การอักเสบเรื้อรัง
- ข้อเข่าอาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ปวด บวม และมีอาการร้อนบริเวณข้อ
3. การเคลื่อนไหวที่จำกัด
- การขาดน้ำไขข้อจะลดความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เช่น งอหรือยืดขาได้ไม่เต็มที่
4. ข้อเข่าอ่อนแรงหรือเสียสมดุล
- ข้อเข่าจะขาดความมั่นคง เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม หรือการบาดเจ็บซ้ำซ้อน
สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำไขข้อหมด
1. การเสื่อมสภาพตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น
- เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตน้ำไขข้อน้อยลง รวมถึงคุณภาพของน้ำไขข้อก็ลดลงด้วย
- การลดลงของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในน้ำไขข้อ ส่งผลให้ข้อขาดความลื่นไหล
2. ภาวะข้อเข่าเสื่อมและการอักเสบ
- ข้อเข่าเสื่อม เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพลง ทำให้น้ำไขข้อถูกใช้งานจนหมดเร็วขึ้น
- การอักเสบ : การอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ส่งผลให้เยื่อบุข้อเสื่อมและลดการสร้างน้ำไขข้อ
3. การบาดเจ็บหรือการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก
- การบาดเจ็บ: การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เช่น การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า หรือหมอนรองกระดูกอ่อนฉีกขาด อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำไขข้อ
- การใช้งานข้อเข่ามากเกินไป: กิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การยกของหนัก วิ่งระยะไกล หรือการนั่งคุกเข่าหรือพับเพียบเป็นเวลานาน ทำให้ข้อเข่าเกิดการสึกหรอเร็วกว่าปกติ
การรักษาและฟื้นฟูน้ำไขข้อในปัจจุบัน
เมื่อปริมาณน้ำไขข้อในข้อเข่าลดลงหรือหมดไป การรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาสู่สมดุลเป็นสิ่งสำคัญในการลดอาการปวดและป้องกันการเสื่อมของข้อเข่า ซึ่งแนวทางการรักษาที่นิยมในปัจจุบันมีดังนี้
1. การใช้ยาเสริมสร้างน้ำไขข้อ
- ไฮยาลูโรนิคแอซิด เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความลื่นไหลในข้อเข่า โดยมีการนำมาใช้ในรูปแบบของอาหารเสริมและการฉีดเข้าข้อโดยตรง
- ยาเหล่านี้ช่วยลดการเสียดสีในข้อเข่า และสามารถบรรเทาอาการปวดในระยะสั้นได้
2. การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เช่น การฝึกความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา
- การทำกายภาพบำบัดช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณข้อเข่า กระตุ้นการผลิตน้ำไขข้อ และลดการอักเสบ
3. การฉีด PRP (Platelet-Rich Plasma) หรือสารหล่อลื่นข้อ
- PRP (Platelet-Rich Plasma)
เป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นที่สกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง เพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและลดการอักเสบในข้อเข่า - สารหล่อลื่นข้อ (Viscosupplementation)
การฉีดไฮยาลูโรนิคแอซิดเข้าไปในข้อโดยตรง เพื่อเพิ่มความลื่นไหลและลดแรงเสียดทาน
อยากฟื้นฟูข้อเข่าด้วยการฉีด PRP? คลิกที่นี่ เพื่อเริ่มต้นการรักษา!
วิธีป้องกันน้ำไขข้อหมดและดูแลสุขภาพข้อเข่าในระยะยาว
- รับประทานอาหารบำรุงข้อ เช่น ปลาไขมันดี ผักใบเขียว และผลไม้ที่มีวิตามินซี
- ควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดแรงกดบนข้อเข่า
- หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป เช่น การนั่งพับเพียบหรือนั่งยอง
- เลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำหรือปั่นจักรยาน
- ใช้รองเท้าที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อเข่าฃ
- ตรวจสุขภาพข้อเข่าเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยง
สรุป
น้ำไขข้อเป็นส่วนสำคัญในการหล่อลื่นข้อเข่าและลดแรงเสียดทาน แต่เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก น้ำไขข้ออาจลดลงหรือหมดไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า ข้อเข่าฝืด และเสียงในข้อ การเสื่อมสภาพของน้ำไขข้อยังอาจนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมในระยะยาว การดูแลสุขภาพข้อเข่า เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการรับประทานอาหารบำรุงข้อสามารถช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมสภาพของน้ำไขข้อได้
สยามคลินิก พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสุขภาพข้อเข่าของคุณ ให้คุณกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและปราศจากความเจ็บปวด
อ่านบทความเพิ่มเติม โรคข้อเข่าเสื่อม ที่นี่